เป็นที่ทราบกันดีว่า การล้างมือด้วยสบู่เป็นวิธีที่ช่วยลดการแพร่โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง
นอกจากนั้นการล้างมือยังช่วยลดการแพร่โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้มากมาย เช่น โรคหวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หวัดลงกระเพาะฯ หรือลำไส้ (viral gastroenteritis) ฯลฯ และลดโอกาสติดพยาธิ เช่น หลังเล่นกับน้องหมา น้องแมว ฯลฯ โดยเฉพาะคนที่ท้อง(ตั้งครรภ์)ต้องล้างมือให้ดี เนื่องจากพยาธิหมา-แมว (toxoplasmosis) อาจทำให้แท้งลูกได้
ทีนี้จุดอ่อนของการล้างมือมีตรงไหนบ้าง กรมอนามัยได้จัดทำหนังสือเรื่อง “เด็กไทยทำได้ ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ” เพื่อกำจัดจุดอ่อนของการล้างมือแล้วยังไม่สะอาด
กล่าวกันว่า การล้างมือแบบ “มืออาชีพ” หรือ “มือโปรฯ (professional = มืออาชีพ)” นั้น เพียงแค่มองก็รู้แล้วว่า ใครโปรฯ ใครไม่โปรฯ ยิ่งถ้าเป็นพยาบาล หมอ หรือหมอฟันแล้วถ้าให้ล้างมือจะรู้ได้ทันทีเลยว่า หมอคนไหนเป็นตัวจริง หมอคนไหนเป็นตัวปลอม
ต่อไปจะขอนำการล้างมือแบบมือโปรฯ มีขั้นตอนดังนี้
จากรูป แสดงบริเวณที่มักจะยังหลงเหลือเชื้อโรคหลังการล้างมือแบบธรรมดาๆ
การล้างมือด้วยสบู่แบบธรรมดาๆ มักจะถูบริเวณปลายนิ้วมือ ง่ามนิ้วมือ(โคนนิ้วมือ) ร่องลายมือ โคนนิ้วหัวแม่มือ และหลังมือได้ไม่หมด การล้างมือแบบ “ไม่ธรรมดา” หรือล้างแบบ “มืออาชีพ(มือโปรฯ / professional = มืออาชีพ)” จึงจะสะอาดจริง วิธีการล้างมือที่ถูกวิธี มีดังต่อไปนี้
โปรดสังเกตว่า การล้างมือแบบมืออาชีพ มือโปรฯ หรือการล้างแบบ “ไม่ธรรมดา” จะเน้นการกำจัดจุดอ่อน หรือบริเวณที่ล้างมือไม่ค่อยหมด เช่น ปลายนิ้วมือ หลังมือ โคนนิ้วหัวแม่มือ ร่องลายนิ้วมือ ฯลฯ
ข้อควรระวังของการล้างมือที่สำคัญมีดังนี้
(1). ฝึกล้างอย่างเป็นระบบ
การล้างมืออย่างเป็นระบบ (systematic) ให้ครบทุกขั้นตอนทั้ง 7 ขั้นตอนข้างต้นจะช่วยให้ล้างได้ครบทุกส่วน (completeness / thoroughness คล้ายๆ กับการแปรงฟันให้ถูกวิธี)
(2). ใช้สบู่
การล้างมือให้ถูกวิธีจำเป็นต้องใช้สบู่ เพื่อช่วยกำจัดคราบไขมันจากต่อมไขมัน เศษผิวหนัง และสิ่งสกปรกออก จะใช้สบู่อะไรก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดี ควรเป็นสบู่เหลวหรือสบู่แห้งที่ไม่แช่น้ำ สบู่ที่แช่น้ำหรือมีน้ำขังอาจเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้ จึงควรวางสบู่ให้น้ำไหลออก หรือ “สะเด็ด” น้ำออกได้ และควรวางไว้ในที่ที่มีการระบายอากาศดี เพื่อให้สบู่มีโอกาสแห้งบ้าง สบู่ยาหรือสบู่ผสมยาฆ่าเชื้อไม่ได้ช่วยให้การล้างมือสะอาดขึ้น ทว่าเวลาล้างมือที่นานพอมีความสำคัญมากกว่า
(3). ล้างก๊อก
ถ้าล้างมืออย่างเดียวโดยไม่ล้างก๊อกน้ำ เชื้อโรคอาจจะไปสะสม หรือหลบซ่อนอยู่ที่ก๊อกน้ำ และกลับมาติดมือหลังล้างมือเสร็จอีกต่อหนึ่ง
(4). ล้างก่อน
ล้างมือก่อนกินอาหาร ก่อนดื่มน้ำ ก่อนทำกับข้าวหรือเตรียมอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีคนที่มีภูมิต้านทานต่ำอยู่ที่บ้าน เช่น คนสูงอายุ(เกิน 60 ปี) เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี คนที่ปลูกถ่ายอวัยวะ คนไข้มะเร็ง คนไข้เอดส์ ฯลฯ ถ้าออกไปนอกบ้าน… พวกเราอาจจะติดเชื้อ เช่น เสมหะคนเป็นหวัดอาจจะติดที่ลูกบิดประตู บันไดรถเมล์ ฯลฯ และอาจพาเชื้อเข้าบ้าน ทางที่ดีคือ ล้างมือด้วยสบู่ก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง ถ้าชอบอ่านหนังสือ หรือหนังสือพิมพ์… จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องล้างมือก่อนกินอาหาร หรือดื่มน้ำ เพื่อลดการได้รับโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ฯลฯ ในหมึกพิมพ์
(5). ล้างหลัง
ล้างมือด้วยสบู่หลังออกจากห้องน้ำหรือห้องส้วมทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่เชื้อโรคทางเดินอาหาร ถ้าเป็นหวัด ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่… พวกเรามีส่วนช่วยชาติได้ โดยการล้างมือด้วยสบู่หลังไอ จาม หรือเขี่ยจมูก(เวลาคันจมูก)ทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่เชื้อโรคผ่านเสมหะติดมือไปยังคนอื่น
(6). ตัดเล็บ
ตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคที่เล็บ การตัดเล็บมือให้ตัดเป็นรูปโค้งตามรูปปลายนิ้วมือ แต่ถ้าจะตัดเล็บเท้า… อย่าตัดเป็นรูปโค้ง ให้ตัดเป็นรูปตรงหรือรูปคล้ายปลายจอบ
การตัดเล็บเท้ารูปโค้งอาจทำให้เกิดโรคเล็บขบ ทำให้เกิดอาการเจ็บ การอักเสบ หรือแผลที่จมูกเล็บ (ด้านข้างเล็บ) ได้
(7). ล้างให้นานพอ
กล่าวกันว่า ถ้าจะล้างมือให้สะอาด และครบทุกส่วน คงต้องใช้เวลาพอๆ กับการแปรงฟันคือ 2-3 นาที
ที่มา …กรมอนามัย