สาระความรู้

เลือกแอร์อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน

ธันวาคม 3, 2015

เลือกแอร์อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน มีฤดูร้อน ฤดูร้อนมากๆ และฤดูร้อนมากถึงมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเหตุนี้ เครื่องปรับอากาศจึงมีความสำคัญอยู่ไม่น้อยสำหรับบ้านเมืองเรา ราคาเครื่องปรับอากาศแต่ละเครื่องก็ค่อนข้างจะสูง

ถ้าเลือกซื้อไม่เหมาะสมก็จะเป็นการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ วันนี้เรามีวิธีในการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศมาฝากครับ

 

ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อแอร์

เลือกขนาด BTU ที่เหมาะสม

ขนาด BTU (British Thermal Unit) คือ ขนาดทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ ซึ่ง 1 ตันความเย็น จะเท่ากับ 12000 BTU ต่อชั่วโมง ดังนั้นจึงควรคำนึงถึงขนาดของแอร์กับขนาดของห้องให้พอดีกัน เพราะหากเลือกแอร์ที่มี BTU สูงหรือต่ำจนเกินไป จะทำให้เปลืองไฟ แอร์ไม่เย็น และแอร์เสียได้ง่ายขึ้น

 

วิธีการคิดค่า BTU แบบคร่าว ๆ

การคำนวณค่า BTU แบบคร่าว ๆ เพื่อเลือกแอร์ที่มีขนาด BTU เหมาะสมกับห้องนั้น สามารถทำได้ด้วยการใช้ขนาดของพื้นที่คูณด้วย 650-800 BTU ต่อ 1 ตารางเมตร ทั้งนี้สามารถบวกลบได้อีก 5% ขึ้นอยู่กับตัวแปรต่าง ๆ เช่น ทิศทางของห้อง การโดนแดด ลักษณะการใช้งาน เป็นต้น โดยมีตัวอย่างคร่าว ๆ ของขนาด BTU ที่เหมาะสมดังนี้

 

ตารางการเลือกขนาด BTU
 ขนาด BTU ห้องปกติ ห้องโดนแดด
 9,000 BTU  12-15 ตารางเมตร  10-14 ตารางเมตร
 12,000 BTU  16-20 ตารางเมตร  14-18 ตารางเมตร
 18,000 BTU  24-30 ตารางเมตร  21-27 ตารางเมตร
 21,000 BTU  28-35 ตารางเมตร  25-32 ตารางเมตร
 24,000 BTU  32-40 ตารางเมตร  28-36 ตารางเมตร
 25,000 BTU  35-44 ตารางเมตร  30-39 ตารางเมตร
 30,000 BTU  40-50 ตารางเมตร  35-45 ตารางเมตร

 

คอมเพรสเซอร์ (Compressor)

คอมเพรสเซอร์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

1. คอมเพรสเซอร์ลูกสูบ (Reciprocating Compressor) ทำงานด้วยการใช้กระบอกสูบในการอัดน้ำยา ให้กำลังแรงสูง แต่มีความสั่นสะเทือนสูง และเสียงค่อนข้างดัง นิยมใช้ในเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่

2. คอมเพรสเซอร์โรตารี่ (Rotary Compressor) ทำงานด้วยการหมุนของใบพัดที่มีความเร็วสูง มีความสั่นสะเทือนน้อย เสียงเงียบ เหมาะสำหรับเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก

3. คอมเพรสเซอร์แบบขด (Scroll Compressor) ทำงานด้วยใบพัดรูปก้นหอย มีความสั่นสะเทือนน้อยมาก มีเสียงเงียบ ให้พลังงานสูง ถือว่าดีกว่าคอมเพรสเซอร์ชนิดอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน


ระบบฟอกอากาศ (Air Purifier)

ระบบฟอกอากาศกลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ไปแล้วสำหรับแอร์ที่วางขายอยู่ในปัจจุบัน เพราะระบบฟอกอากาศจะช่วยหมุนเวียนให้อากาศภายในห้องสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นหลายระบบดังนี้

1. การกรอง (Filtration) เป็นการใช้แผ่นกรองอากาศดักจับฝุ่นละอองเอาไว้ และต้องหมั่นเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศเมื่อหมดอายุการใช้งาน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคในอากาศ นอกจากนี้หากต้องการกำจัดกลิ่นให้เลือกแผ่นกรองที่เป็นคาร์บอน เพื่อดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ

2. การดักจับด้วยไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator) คือการดักจับฝุ่นละอองในอากาศด้วยการใช้ตะแกรงไฟฟ้า (Electric Grids) และใช้แผ่นโลหะอีกชุดเรียงขนานกันเพื่อดูดฝุ่นละอองเอาไว้ หากมีการหมดอายุต้องหยุดเครื่องเพื่อทำความสะอาด

3. การปล่อยประจุไฟฟ้า (Ionizer) คือการผลิตประจุไฟฟ้าประจุลบเพื่อปล่อยออกมาพร้อมกับลมเย็น เพื่อให้ดักจับฝุ่นละอองที่เป็นประจุบวก ซึ่งฝุ่นละอองที่ถูกดักจับจะรวมตัวกันและร่วงหล่นมาบนพื้นห้อง สามารถทำความสะอาดห้องได้ตามปกติ โดยไม่ต้องทำความสะอาดภายในเครื่องปรับอากาศ

0 likes

Author